ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส

ประวัติความเป็นมา

       ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส (ศว.นราธิวาส) มีสถานะภาพตามประกาศจัดตั้งเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาเฉพาะด้าน ประเภทสถานศึกษาขึ้นตรงสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) มีหน้าที่จัดและบริการการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมแก่นักเรียน นักศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน และประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ , ศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนารูปแบบกิจกรรม หลักสูตร สื่อและกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม อาทิ ดาราศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา เทคโนโลยีที่เหมาะสม ฯลฯ , เผยแพร่และบริการ กิจกรรม หลักสูตร สื่อและกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, พัฒนา ครู อาจารย์ วิทยากรและบุคลากรทางการศึกษา ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ,ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

        ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2556 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้รับการอนุญาตจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ (นายปรีชา กิ้มเฉี้ยง) ให้ใช้ที่ดินในบริเวณศูนย์ราชการจังหวัด ตำบลลำภู อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส แปลงที่ 32.1 จำนวน 18 ไร่ แปลงที่ 33 จำนวน 25 ไร่ แปลงที่ 35 จำนวน 13 – 75 ไร่ รวมทั้งสิ้นจำนวน 56.75 ไร่ ต่อมาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อก่อสร้างอาคารหลังแรกคือ อาคารดาราศาสตร์ ในวงเงิน 130 ล้านบาท วันที่ 3 ธันวาคม 2557 ผลปรากฏว่าบริษัทที่ชนะการประกวดราคาได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดนราดินขาว วงเงิน 129.55 ล้านบาท และวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา (นายกำจร ตติยกวี) ลงนามในสัญญาว่าจ้าง วงเงิน 129.5 ล้านบาท โดยแบ่งงวดงานเป็น 24 งวดงานบริษัทนราดินขาวได้ส่งมอบงานเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2561 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน 

         ปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาสได้ดำเนินการจัดและบริการการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยยึดปรัชญาการจัดการศึกษาที่ว่า การเรียนรู้แท้จริง คือการเรียนรู้ธรรมชาติ ดังนั้นศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาสจึงพยายามพัฒนาสถานศึกษาให้มี เอกลักษณ์คือ เป็นแหล่งเรียนรู้ คู่ธรรมชาติ โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนเกิด อัตลักษณ์คือ เป็นบุคคลที่ฉลาดรู้ ฉลาดคิดด้วยจิตวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยสรรพกำลังและการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่ายทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงเพื่อพัฒนาทรัพยากรคนให้มีทักษะและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สูงสุดต่อไป

วิสัยทัศน์

คนไทยได้รับโอกาสการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับช่วงวัย สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีทักษะที่จำเป็นในโลกศตวรรษที่ ๒๑

พันธกิจ

     ๑. จัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมทุกช่วงวัย และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคม และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
     ๒. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานภาคีเครือข่าย ในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมของศูนย์การเรียนและแหล่งการเรียนรู้อื่น ในรูปแบบต่างๆ
     ๓. ส่งเสริมและพัฒนาการนำเทคโนโลยีทางการศึกษา และเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
     ๔. พัฒนาหลักสูตร รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและนวัตกรรม การวัดและประเมินผลในทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน
     ๕. พัฒนาบุคลากรและระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล

อำนาจหน้าที่

    ๑. จัดและบริการการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมแก่นักเรียน นักศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียนและประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ
    ๒. ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนารูปแบบกิจกรรม หลักสูตร สื่อและกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม อาทิ ดาราศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา เทคโนโลยีที่เหมาะสม
    ๓. เผยแพร่และบริการกิจกรรม หลักสูตร สื่อและกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
    ๔. พัฒนาครู อาจารย์ วิทยากรและบุคลากรทางการศึกษา ผู้รับผิดชอบการจัด การเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
    ๕. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
    ๖. ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

การให้บริการของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส

    ๑. นิทรรศการ(Exhibition) การจัดนิทรรศการถาวร, การจัดนิทรรศการชั่วคราว, การจัดนิทรรศการเคลื่อนที่
    ๒. ค่ายวิทยาศาสตร์ (Science Camp)
    ๓. วิชาการ
    ๔. กิจกรรมการศึกษา

คณะกรรมการสถานศึกษา

    ๑. นายไสว ชินพงษ์                      ประธานกรรมการ
    ๒. นายเจตต์ มาหะมะ                   กรรมการ
    ๓. นายอัศวัน เมฆารัฐ                   กรรมการ
    ๔. นายอารซู มาทวี                       กรรมการ
    ๕. นายการียา เตะตานี                  กรรมการ
    ๖. นายลูซาน ตอยิบ                      กรรมการ
    ๗. นายศุภชัย รุ่งอารยะทรัพย์       กรรมการ
    ๘. นางสาวลักขณา อาคุณวาดา   กรรมการ
    ๙. ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส        กรรมการและเลขานุการ

คณะที่ปรึกษา

    ๑. นายไสว ชินพงษ์                       ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา
    ๒. นายเจตต์ มาหะมะ                    ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมือง การปกครอง
    ๓. นายอัศวัน เมฆารัฐ                    ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม
    ๔. นายอารซู มาทวี                        ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
    ๕. นายการียา เตะตานี                   ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความมั่นคง
    ๖. นายลูซาน ตอยิบ                       ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น
    ๗. นายศุภชัย รุ่งอารยะทรัพย์        ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข
    ๘. นางสาวลักขณา อาคุณวาดา    ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสารสนเทศ